วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - สังโยชน์ 10

สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับภพกับชาติมี 10 ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

1 . สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดในขันธ์ 5 คือเห็นว่าขันธ์นั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา เช่น ในการยืนเข้าใจว่าเรายืน ในการเดินเข้าใจว่าเราเดิน ในการนั่งเข้าใจว่าเรานั่ง ในการนอนเข้าใจว่าเรานอน ซึ่งแท้ที่จริงเราไม่ได้ยืน เราไม่ได้เดิน เราไม่ได้นั่ง และเราไม่ได้นอน หากแต่เป็นการประกอบกันขึ้นแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ต่างหากที่เป็นตัวกระทำ

2 . วิจิกิจฉา

วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจ ความตัดสินใจไม่ได้ มีลักษณะของการจับอารมณ์ไว้หลายอย่าง ทำให้การศึกษาและการปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ทำให้ขาดจากศีล สมาธิ และปัญญา อุปมาเหมือนเสือโคร่งใหญ่ คอยดักกินนักเดินทางที่เดินทางผ่านทาง 2 แพร่ง พอนักเดินทางคนใดสงสัยลังเลใจว่าจะไปทางไหนดี เสือโคร่งก็คาบไปกินเสียก่อน ตัวอย่างของวิจิกิจฉา เช่น สงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขาบท สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต และสงสัยในปฏิจจสมุปบาท

3 . สีลัพพตปรามาส

สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ หมายความว่า เป็นการปฏิบัติที่ผิดไปจากความจริง ผิดไปจากทางที่ถูก หรือการถือผิดนั่นเอง เช่นการยึดถือว่า ศีลที่ปฏิบัติอย่างนี้ วัตรที่ปฏิบัติอย่างนี้ จะพาให้เราพ้นทุกข์ได้เป็นแน่ๆ หรือความเขา้ ใจผิดที่ว่า การแสดงความเคารพนับถือด้วยการกราบไหววิงวอน เช่น
บวงสรวงเทพยดา เจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผีปีศาจต่างๆ ด้วยความหวังว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้วจะมีความสุข หรือความเข้าใจผิดที่ว่า การบำเพ็ญอัตตกิลมถานุโยค โดยการนอนบนหนาม ใช้เข็มแทงตน ยืนขาเดียว เป็นทางนำไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ หรือความเข้าใจผิดที่ว่า การบำเพ็ญกามสุขัลลิกานุโยค โดยการบำเรอตนด้วยกามสุขต่างๆนานา เป็นทางนำไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ล้วนเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งสิ้น

4 . กามราคะ

กามราคะ คือ ความชอบความพอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เข้ามากระทบ เรียกอีกอย่างว่า " โลภะ " แบ่งเป็น 3 ประการ ประการแรกได้แก่กามราคะที่นำไปสู่อบายภูมิ เนื่องจากกามคุณที่มายั่วยวนนั้น นำไปสู่การล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น การล่วงกาเมสุมิจฉาจาร ประการต่อมาได้แก่กามราคะอย่างหยาบ คือเมื่อกามคุณมายั่วยวนจะเกิดความพอใจอยู่ภายในใจเพียงเล็กน้อย ไม่อาจผลักดันให้ถึงกับทุศีลได้ และประการสุดท้ายได้แก่กามราคะอย่างละเอียด คือเมื่อกามคุณมายั่วยวน ก็ไม่อาจก่อให้เกิดความพอใจในใจขึ้นได้ แม้เพียงเล็กน้อย

5 . ปฏิฆะ

ปฏิฆะ คือ ความไม่ชอบความไม่พอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เข้ามากระทบ เรียกอีกอย่างว่า " โทสะ " แบ่งเป็น 3 ประการ ประการแรกได้แก่ ปฏิฆะที่นำไปสู่อบายภูมิ เนื่องจากกามคุณที่มายั่วยวนนั้น นำไปสู่การล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น การล่วงปาณาติบาต ประการต่อมาได้แก่ปฏิฆะอย่างหยาบ คือเมื่อกามคุณมายั่วยวน จะเกิดความไม่พอใจอยู่ภายในใจเพียงเล็กน้อย ไม่อาจผลักดันให้ถึงกับทุศีลได้ และประการสุดท้ายได้แก่ปฏิฆะอย่างละเอียด คือเมื่อกามคุณมายั่วยวน ก็ไม่อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจในใจขึ้นได้แม้เพียงเล็กน้อย

6 . รูปราคะ

รูปราคะ คือ ความพอใจยินดีในรูปภพ คือมีความพอใจในการปฏิบัติสมถกรรมฐานในส่วนรูปฌาน ด้วยคาดหมายว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปปฏิสนธิในรูปภพ เหตุที่กล่าวว่าการมุ่งปฏิบัติสมถกรรมฐานนั้น เหตุใดจึงเป็นสังโยชน์ ก็เพราะว่าอานิสงส์ของการเจริญสมถกรรมฐาน ย่อมให้ผลปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ อันเป็นการติดอยู่ในรูปภพ เมื่อยังติดอยู่ในรูปภพ ก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจของสังโยชน์ การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เจริญสมาธินั้น ก็เพื่อจะให้เอาสมาธินั้นมาเป็นบาทของปัญญา หมายความว่า เมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานจนได้รูปฌานแล้วก็ให้เอารูปฌานนั้นมาเป็นบาทสำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ไม่ให้ติดอยู่กับสมาธิ เพราะถ้าติดอยู่กับสมาธิ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าติดอยู่ในสังโยชน์ ไม่สามารถจะพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ได้

7 . อรูปราคะ

อรูปราคะ คือ ความพอใจยินดีในอรูปภพ คือมีความพอใจในการปฏิบัติสมถกรรมฐานในส่วนอรูปฌาน ด้วยคาดหมายว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปปฏิสนธิในอรูปภพ เหตุที่กล่าวว่าการมุ่งปฏิบัติสมถกรรมฐานนั้น เหตุใดจึงเป็นสังโยชน์ ก็เพราะว่าอานิสงส์ของการเจริญสมถกรรมฐาน ย่อมให้ผลปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ อันเป็นการติดอยู่ในอรูปภพ เมื่อยังติด
อยู่ในอรูปภพ ก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจของสังโยชน์ การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เจริญสมาธินั้นก็เพื่อจะให้เอาสมาธินั้นมาเป็นบาทของปัญญา หมายความว่า เมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานจนได้อรูปฌานแล้ว ก็ให้เอาอรูปฌานนั้นมาเป็นบาทสำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป (สำหรับอรูปฌานนั้น ต้องถอยกลับมาสู่รูปฌานก่อน หรือออกจากอรูปฌานก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปได้) ไม่ให้ติดอยู่กับสมาธิ เพราะถ้าติดอยู่กับสมาธิ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าติดอยู่ในสังโยชน์ ไม่สามารถจะพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ได้

8 . มานะ

มานะ คือ ความถือตัวในความเป็นเราเป็นเขา ความเห็นผิด ความเห็นที่ยังไม่ถูกต้องตามสภาวะที่แท้จริง มานะจำแนกได้เป็น 9 ประการ ดังต่อไปนี้

1 . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
2 . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
3 . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
4 . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
5 . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
6 . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
7 . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
8 . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
9 . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา

9 . อุทธัจจะ

อุทธัจจะ คือ เจตสิกที่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน จับอารมณ์ไม่มั่น จับอารมณ์ไม่แน่นอน เป็นธรรมที่กั้นใจคนไว้ไม่ให้เกิดมหากุศลไม่ให้เกิดสมาธิ ไม่ให้เกิดปัญญา ห่างจากพระสัทธรรม

10 . อวิชชา

อวิชชา คือ ความรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ ความไม่เข้าใจในขันธ์ 5 ความไม่เห็นอริยสัจ 4 ปกปิดความจริง ความบอดแห่งจิต (โดยนัยแห่งอภิธรรมเน้นเฉพาะความไม่รู้ในอริยสัจ 4 ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ และความไม่รู้ในหนทางสู่ความดับทุกข์)

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ16 มกราคม 2565 เวลา 00:37

    Lakers Vs Celtics Odds, Prediction (Sunday) - AiG 카지노사이트 카지노사이트 카지노 카지노 온카지노 온카지노 763Top Ten Soccer Predictions Today

    ตอบลบ