วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ทุกข์

ทุกข์ คือ สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวเอง แบ่งเป็น 2 นัย

ทุกข์โดยนัยที่หนึ่ง
ทุกข์โดยนัยที่หนึ่งมี 12 ประการ ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อัปปิเยหิสัมปโยค ปิเยหิวิปปโยค ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ และอุปาทานขันธ์ 5

1 . ชาติ

ชาติ คือ ความเกิด การก้าวลง การบังเกิด ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การกลับมาได้อายตนะทั้งหลาย อุปมาเหมือนวัตถุสิ่งหนึ่งที่อยู่ในที่ลับ เวลาปรากฏขึ้นมา อาการของวัตถุนั้นเป็นเพียงลักษณะที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ตัววัตถุ

2 . ชรา

ชรา คือ ความแก่ เช่น ฟันหัก ผมหงอก หนังห่อเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ ความเสื่อมแห่งอินทรีย์ อุปมาเหมือนน้ำ ลม และไฟ ไม่ปรากฏทางไป จะปรากฏได้ก็เพราะอาศัยหญ้าและต้นไม้ ซึ่งโค่นล้มและมีร่องรอยว่าถูกไฟไหม้

3 . มรณะ

มรณะ คือ ความตาย จุติ ความเคลื่อน การแตกทำลาย ความหายไป ความแตกไปของขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่างกาย การขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ อุปมาเหมือนกับต้นไม้ที่ยืนต้นตายแห้ง หรือต้นไม้ตายแห้งที่มีลำต้นอันทอดลงดิน ดูไร้สาระและไม่มีประโยชน์อันใด

4 . โสกะ

โสกะ คือ ความโศกเศร้า กิริยาโศกเศร้า สภาพโศกเศร้า ความแห้งผากภายใน ความแห้งกรอบภายใน ความเกรียมใจ ความโทมนัส ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง

5 . ปริเทวะ

ปริเทวะ คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาร้องไห้ กิริยาคร่ำครวญ สภาพร้องไห้ สภาพคร่ำครวญ ความบ่นถึง ความพร่ำเพ้อ ความร่ำไห้ ความพิไรร่ำ กิริยาพิไรร่ำ สภาพพิไรร่ำ ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง

6 . ทุกข์

ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ความทุกข์กาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส

7 . โทมนัส

โทมนัส คือ ความไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์ อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายเป็นทุกข์ อันเกิดแต่เจโตสัมผัส

8 . อุปายาส

อุปายาส คือ ความคับแค้นใจ ความขุ่นแค้นใจ สภาพคับแค้นใจ สภาพขุ่นแค้นใจ ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง

9 . อัปปิเยหิสัมปโยค

อัปปิเยหิสัมปโยค คือ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก คือ การประสบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เช่น ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ถูกนินทา ประสบความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นต้น

10 . ปิเยหิวิปปโยค

ปิเยหิวิปปโยค คือ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก คือ ความพลัดพรากจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เช่น คนที่เรารักเคารพต้องล้มหายตายจาก สัตว์ สิ่งของ และสังขารอันเป็นที่รัก ต้องถึงความวิบัติ เป็นต้น

11 . ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ

ยัมปิจฉังนลภติตัมปิ คือ ความต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ในความปรารถนาที่ว่า

1 . ขอเราจงอย่ามี ชาติ เลยหนอ
2 . ขอเราจงอย่ามี ชรา เลยหนอ
3 . ขอเราจงอย่ามี มรณะ เลยหนอ
4 . ขอเราจงอย่ามี โสกะ เลยหนอ
5 . ขอเราจงอย่ามี ปริเทวะ เลยหนอ
6 . ขอเราจงอย่ามี ทุกข์ เลยหนอ
7 . ขอเราจงอย่ามี โทมนัส เลยหนอ
8 . ขอเราจงอย่ามี อุปายาส เลยหนอ

12 . อุปาทานขันธ์ 5

อุปาทานขันธ์ 5 คือ ความยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งหลาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 11 ประการในข้างต้น


ทุกข์โดยนัยที่สอง 10

ทุกข์โดยนัยที่สองมี 10 ประการ ได้แก่ นิพัทธทุกข์ พยาธิทุกข์ อาหารปริเยฏฐิทุกข์ สภาวทุกข์ วิวาทมูลกทุกข์ สหคตทุกข์ วิปากทุกข์ ปกิณณกทุกข์ สันตาปทุกข์ และทุกขขันธ์

1 . นิพัทธทุกข์

นิพัทธทุกข์ คือ ทุกข์เนืองนิตย์หรือทุกข์ตลอดเวลา ได้แก่ ความไม่สบายกายที่เกิดจากอากาศหนาว อากาศร้อน ความหิว ความกระหาย อาการปวดอุจจาระ อาการปวดปัสสาวะ ซึ่งเป็นทุกข์ทางกาย อันเป็นสมบัติของทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกนี้

2 . พยาธิทุกข์

พยาธิทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้าเบียดเบียน ก่อให้เกิดความไม่สบายกายนานัประการ ด้วยเหตุแห่งความผิดปรกติของร่างกาย ประการใดประการหนึ่ง

3 . อาหารปริเยฏฐิทุกข์

อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากการที่มีหน้าที่ต้องแสวงหาอาหารมาเลี้ยงชีพจนกว่าจะตายไปจึงจะหมดหน้าที่ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้อาหารมาบำรุง

4 . สภาวทุกข์

สภาวทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจาก ชาติ ชรา และมรณะ เป็นทุกข์ที่เป็นสมบัติของผู้เกิดอีกประการ อันไม่มีตัวตนบุคคลใดสามารถหลีกเลี่ยงไปได้

5 . วิวาทมูลกทุกข์

วิวาทมูลกทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งกับผู้อื่น เนื่องด้วยการใช้ชีวิต การกินอยู่หลับนอน การทำการทำงานในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นที่แน่นอน ด้วยความที่วัตถุอันจะหามาสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มีความจำกัด และด้วยความที่เป็นปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอยู่จึงอาจมีการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันบ้างในบางครั้ง

6 . สหคตทุกข์

สหคตทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากความมีอัตตาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขที่ตนมีอยู่ ต้องคอยดูแลทรัพย์สินของตนมิให้สูญหายหรือถูกขโมย มีตัวกูของกูในยศฐาบรรดาศักดิ์ กระหยิ่มยิ้มย่องยินดีในคำสรรเสริญเยินยอของผู้อื่น สำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่จนจมไม่ลง และตักตวงมอมเมาในวัตถุกามต่างๆนานา โดยคิดเอาว่าเป็นกำไรชีวิตที่ต้องรีบเร่งสวาปามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก่อนที่ตนจะตายจากโลกนี้ไป

7 . วิปากทุกข์

วิปากทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากอกุศลกรรมที่ตนได้เคยก่อเอาไว้ ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติปางก่อนก็ตาม กลับมาส่งผลให้ต้องรับทุกข์รับกรรม ในสิ่งที่ตนได้เคยกระทำลงไป

8 . ปกิณณกทุกข์

ปกิณณกทุกข์ มี 3 ประการ ได้แก่

  1. ทุกข์อันเกิดจากการประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก คือ การประสบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เช่น ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ ถูกนินทา ประสบความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
  2. ทุกข์อันเกิดจากความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก คือ ความพลัดพรากจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เช่น คนที่เรารักเคารพต้องล้มหายตายจาก สัตว์ สิ่งของ และสังขารอันเป็นที่รักต้องถึงความวิบัติ
  3. ทุกข์อันเกิดจากความต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ในความปรารถนาที่ว่า 
    1. ขอเราจงอย่ามี ชรา เลยหนอ 
    2. ขอเราจงอย่ามี มรณะ เลยหนอ 
    3. ขอเราจงอย่ามี โสกะ เลยหนอ 
    4. ขอเราจงอย่ามี ปริเทวะ เลยหนอ 
    5. ขอเราจงอย่ามี ทุกข์ เลยหนอ 
    6. ขอเราจงอย่ามี โทมนัส เลยหนอ 
    7. ขอเราจงอย่ามี อุปายาส เลยหนอ
9 . สันตาปทุกข์

สันตาปทุกข์ คือ ทุกข์อันเกิดจากการถูกกิเลสเผาลน เช่น ความโลภ ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความปรารถนา และความใคร่ จนร้อนรุ่มในใจไปหมด ไม่สามารถที่จะละวางลงได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้สนองตอบต่อความต้องการของตน

10 . ทุกขขันธ์

ทุกขขันธ์ คือ ทุกข์จากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเรียกการยึดมั่นถือมั่นนี้ว่า " อุปาทานขันธ์ 5 " นั่นเอง

--------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ: บทความทั้งหมดคัดจากหนังสือ อริยสัจทีปนี เรียบเรียงโดย พสุ การค้า

ปฐมพุทธพจน์

ปฐมพุทธพจน์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดอริยสัจ เราด้วยและเธอทั้งหลาย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ ตลอดกาลนานอย่างนี้

อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดซึ่ง ทุกข์... เหตุแห่งทุกข์... ข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เราด้วยและเธอทั้งหลายด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏนี้ตลอดกาลนานอย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราด้วยและเธอทั้งหลายด้วยได้ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้วซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ.. ตัณหาในภพขาดสูญแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพใหม่สิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี

สังยุตตนิกาย มหาวรรค ๑๙/๑๐๙/๖๑๐ วัชชีสูตร