วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - โอฆะ 4

โอฆะ คือ ห้วงน้ำแห่งสงสาร ห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ มี 4 ประการ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ

1 . กาโมฆะ

กาโมฆะ คือ ห้วงแห่งกาม ได้แก่ ความใคร่ ความพอใจ ความยินดี ปรารถนา ต้องการ ความอยากได้ ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันตนผูกใจว่า สิ่งเหล่านั้นน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ และในจิตของตนได้มี " กามธาตุ " คือธาตุความใคร่ในสิ่งนั้นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเขาก็จะดำริถึงรูปเป็นต้นเหล่านั้นด้วยแรงปรารถนา จากการดำริถึงด้วยความใคร่นี้เอง ทำให้ความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนาเกิดขึ้น จึงมีการแสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของตน ด้วยทางถูกบ้างผิดบ้าง จนได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครอง แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยการรักษา การเสื่อมสลายหรือแตกดับไปของสิ่งเหล่านั้น ทุกช่วงของความคิดที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ใจของบุคคลเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ ยิ่งคิด
มาก แสวงหามาก ได้มามาก จิตก็จะถูกท่วมทับด้วยแรงความใคร่ได้ ใคร่มีในวัตถุกามเหล่านั้น จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะใจของคนที่ถูกท่วมทับด้วยกาโมฆะ เป็นจิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่อาจให้เต็มให้อิ่มได้ และด้วยการพยายามตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากกาโมฆะท่วมทับ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด

2 . ภโวฆะ

ภโวฆะ คือ ห้วงแห่งภพ ได้แก่ ความใคร่ในความมีความเป็น เพราะความฝังใจว่า ยศตำแหน่งหรือฐานะนั้นๆ เป็นภาวะที่นำความสุขความยิ่งใหญ่มาให้แก่ตน ทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต ทั้งชาติปัจจุบันและชาติหน้า ความใคร่และความพอใจในฐานะต่างๆนั้น จะแสดงอาการออกมาทำนองเดียวกับกาโมฆะ คือจิตจะดำริถึงสิ่งที่ตนพอใจมากๆ จนเกิดการกำหนด
หมายที่จะได้ฐานะนั้นๆ เกิดความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา จนต้องแสวงหาต่อสู้แย่งชิงกันจนบางครั้งมีการล้มตาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ความปรารถนาของตนยังไม่เต็มแต่ก็ต้องมาตายไปเสียก่อน ยิ่งถ้าเป็นความต้องการให้ภาวะที่ตนต้องการนั้น บังเกิดขึ้นในอนาคตกาลด้วยแล้ว จิตก็จะมีแต่ความวิตกกังวลขาดความเป็นอิสระ เสมือนว่าถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำและเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่จะทำตนให้สวัสดีได้

3 . ทิฏโฐฆะ

ทิฏโฐฆะ คือ ห้วงแห่งความเห็นผิด คำว่า " ทิฏฐิ " นั้นแปลว่าความเห็น โดยปกติเป็นคำกลางๆ คือไม่มีความหมายว่าดีหรือชั่ว แต่เมื่อมาคำเดียวไม่มีคำอื่นต่อหน้าหรือหลัง ท่านหมายเอาความเห็นที่ไม่ดี ในที่นี้มีความหมายไปในทางที่ไม่ดีโดยตรง เพราะเป็นชื่อของกิเลส ความเห็นที่เป็นโอฆะคือทิฏฐิ เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีคุณ กรรมที่ได้ชื่อว่าบุญบาปไม่มี การกระทำที่ว่าเป็นดีเป็นชั่วจึงไม่มี ผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนไม่มีเหตุ ชาติก่อนหรือชาติหน้าก็ไม่มี เป็นต้น ความเห็นผิดในลักษณะต่างๆดังกล่าวนี้ มีอิทธิพลอย่างสำคัญในชีวิตของคน เพราะคนเราจะทำหรือจะพูด ทางกายหรือทางวาจา ก็เกิดมาจากความเห็นภายในจิตใจของเขาเป็นสำคัญ เมื่อมีความเห็นผิดๆ การกระทำของเขาก็ย่อมจะผิดตามไปด้วย และที่เป็นอันตรายมากก็คือ เมื่อเขาปฏิเสธบาปและบุญ ทั้งที่เป็นส่วนเหตุและผล ทำให้เขาขาดความรับผิดชอบในการกระทำ โอฆะคือทิฏฐิจะท่วมทับใจของเขา ให้ไหลไปตามอำนาจของความเห็นผิดนั้นๆ ก่อให้เกิดซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

4 . อวิชโชฆะ

อวิชโชฆะ คือ ห้วงแห่งความมืดบอดทางปัญญา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจัดเป็นอวิชชา 8 ประการ ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้หนทางสู่ความดับทุกข์ ความไม่รู้อดีต ความไม่รู้อนาคต ความไม่รู้ทั้งในอดีตและในอนาคต และความไม่รู้ในธรรมที่เป็นปัจจัยของกันและกัน อาศัยกัน
และกันเกิดขึ้นและดับไป ผู้ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ โอฆะคืออวิชชาย่อมท่วมทับใจของเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น