วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทุกขนิโรธ - พระอรหันต์ 6

ทุกขนิโรธ

ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ดับกิเลสตัณหาได้โดยสิ้นเชิง เป็นภาวะอันปลอดจากทุกข์ เพราะไม่มีทุกข์ที่จะเกิดขึ้นได้ หมายถึงพระนิพพานอันพระอรหันต์ได้บรรลุแล้ว โดยในบทนี้จะได้นำภพภูมิต่างๆ ตั้งแต่ระดับพระอรหันต์ซึ่งปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว ลงมาจนถึงระดับของสัตว์นรก ซึ่งเป็นภพภูมิที่มีความทุกข์แสนสาหัสและสูงสุดมาแสดง เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อระดับของความดับทุกข์ในภพภูมิต่างๆ อันมี 12 ระดับ ดังต่อไปนี้

• พระอรหันต์ 6
• พระอนาคามี 5
• พระสกทาคามี 5
• พระโสดาบัน 3
• อรูปพรหม 4
• รูปพรหม 16
• เทวดา 6
• มนุษย์ 5
• สัตว์เดรัจฉาน 4
• อสุรกาย 3
• เปรต 21
• สัตว์นรก 23


พระอรหันต์ 6

พระอรหันต์ คือ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดซึ่งได้บรรลุอรหัตตผล โดยละสังโยชน์ได้ครบทั้ง 10 ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา พระอรหันต์นั้น แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ สุกขวิปัสสโก ปัญญาวิมุติ อุภโตภาควิมุติ เตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฏิสัมภิทัปปัตโต

  1. สุกขวิปัสสโก คือ พระอรหันต์ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ สำเร็จพระอรหัตตผลโดยไม่ได้ฌานสมบัติ ไม่ได้อภิญญา เจริญปัญญาล้วนๆ จนได้บรรลุอาสวักขยญาณ (ญาณที่กำจัดอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป) แต่ขณะบรรลุมรรคผลนั้น จะมีสมาธิระดับปฐมฌานเป็นอย่างน้อยและจตุตถฌานเป็นอย่างมาก เข้ามาสัมปยุตโดยอัตโนมัติ
  2. ปัญญาวิมุติ คือ พระอรหันต์ผู้เจริญสมถกรรมฐานเป็นบาท แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนสำเร็จพระอรหัตตผล โดยได้รูปฌานตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌาน ฌานใดฌานหนึ่ง แต่ไม่ได้อรูปฌาน แล้วเจริญปัญญาจนได้บรรลุอาสวักขยญาณ
  3. อุภโตภาควิมุติ คือ พระอรหันต์ผู้เจริญสมถกรรมฐานเป็นบาท แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนสำเร็จพระอรหัตตผล โดยได้รูปฌานจนถึงจตุตถฌาน และได้อรูปฌานมีการหลุดพ้นจากอากาศบัญญัติ คืออากาสานัญจายตนะเป็นอย่างต่ำ แล้วเจริญปัญญาต่อจนได้บรรลุอาสวักขยญาณ อันอุภโตภาควิมุตินี้ มีความหมายว่าเป็นผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือหลุดพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ และหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรคอริยผล
  4. เตวิชโช คือ พระอรหันต์ผู้เป็นอุภโตภาควิมุติ และได้วิชชา 3 ประการ คือ
    1. บุพเพนิวาสานุสติญาณ (ญาณที่ทำให้ระลึกชาติในอดีตของตนได้)
    2. จุตูปปาตญาณ (ญาณที่ทำให้รู้การเกิดการตายของสัตว์โลกทั้งหลาย)
    3. อาสวักขยญาณ (ญาณที่กำจัดอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป)
  5. ฉฬภิญโญ คือ พระอรหันต์ผู้เป็นอุภโตภาควิมุติ และได้อภิญญา 6 ประการ คือ
    1. อิทธิวิธิญาณ (ญาณที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆได้)
    2. ทิพโสตญาณ (ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์)
    3. เจโตปริยญาณ (ญาณที่ทำให้กำหนดรู้ถึงจิตใจผู้อื่นได้)
    4. บุพเพนิวาสานุสติญาณ (ญาณที่ทำให้ระลึกชาติในอดีตของตนได้)
    5. ทิพจักขุญาณ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์)
    6. อาสวักขยญาณ (ญาณที่กำจัดอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป)
  6. ปฏิสัมภิทัปปัตโต คือ พระอรหันต์ผู้เป็นอุภโตภาควิมุติ และเป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
    (ปัญญาอันแตกฉาน) 4 ประการ คือ
    1. อัตถปฏิสัมภิทา หมายถึง ญาณแตกฉานในอรรถ คือ เนื้อความ ความหมาย ความมุ่งหมาย ผลประโยชน์ของหลักธรรม สามารถที่จะอธิบายหัวข้อธรรมได้โดยพิสดาร เห็นเหตุใดๆ ก็สามารถหยั่งรู้ผล ที่บังเกิดจากเหตุนั้นๆ ได้
    2. ธัมมปฏิสัมภิทา หมายถึง ญาณแตกฉานในธรรม คือ หลักธรรม เห็นคำอธิบายโดยพิสดารก็สามารถจับใจความ มาตั้งเป็นหัวข้อธรรมหรือกระทู้ธรรมได้ 
    3. นิรุตติปฏิสัมภิทา หมายถึง ญาณแตกฉานในภาษา เช่น ภาษาไทย บาลี สันสกฤต มคธ ฯลฯ สามารถอ่าน ฟัง แปล และพูดได้ 
    4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา หมายถึง ญาณแตกฉานในปฏิภาณ มีปรีชาไหวพริบ ในการใช้ความคิดกล่าวแก้ โต้ตอบปัญหาธรรมะ ได้โดยแยบคายและทันการ

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทกขสมุทัย - กิเลส 10

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ กิเลสมี 10 ประการ ได้แก่ โลภกิเลส โทสกิเลส โมหกิเลส มานกิเลส ทิฏฐิกิเลส วิจิกิจฉากิเลส ถีนกิเลส อุทธัจจกิเลส อหิริกกิเลส และอโนตตัปปกิเลส

1 . โลภกิเลส

โลภกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะยินดีชอบใจในอารมณ์ ความกำหนัด ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความหมกมุ่น ความใคร่ ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ความหวังรูป ความหวังเสียง ความหวังกลิ่น ความหวังรส ความหวังสัมผัส ความหวังลาภ ความหวังทรัพย์ ความหวังบุตร ความหวังชีวิต ความใคร่ในอารมณ์ดีๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจความปรารถนา ความกระหยิ่มใจ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ และตัณหาในอรูปภพ

2 . โทสกิเลส

โทสกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่ชอบใจในอารมณ์ ความขัดเคือง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง ความขุ่นเคือง ความพลุ่งพล่าน ความคิดประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความขุ่นจิต โกรธ กิริยาที่โกรธ ความโกรธ การคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ความคิดปองร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต มีอาฆาตวัตถุ หรือมูลเหตุให้เกิดความพยาบาท 10 ประการ ดังต่อไปนี้

1) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรามาแล้ว”
2) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
3) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
4) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
5) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”
6) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”
7) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
8) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
9) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
10) . ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่น เดินสะดุดตอไม้และเกิดความโกรธขึ้น

3 . โมหกิเลส

โมหกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความมัวเมาลุ่มหลง ปราศจากสติสัมปชัญญะ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า " เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงเกิดขึ้น " ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ การไม่พิจารณา การไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความ
ไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล ทั้งหมดนี้แหละคือ " โมหกิเลส "

4 . มานกิเลส

มานกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะความทะนงตน การถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกจิตขึ้น โดยมานกิเลสนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 9 ประการ ดังต่อไปนี้

1) . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
2) . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
3) . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
4) . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
5) . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
6) . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
7) . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
8) . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
9) . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา

5 . ทิฏฐิกิเลส

ทิฏฐิกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริง เช่น ความเห็นว่าโลกเที่ยง ว่าโลกไม่เที่ยง ว่าโลกมีที่สุด ว่าโลกไม่มีที่สุด ความผันแปรแห่งทิฏฐิ ความยึดถือผิด ความตั้งมั่นผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิอันเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ และเป็นการยึดถือโดยความวิปลาส

6 . วิจิกิจฉากิเลส

วิจิกิจฉากิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความสงสัยลังเลใจ หรือความเคลือบแคลงใจในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขาบท ในกาลอดีต ในกาลอนาคต ทั้งในกาลอดีตและกาลอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า " เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น " การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆนานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป และความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติ

7 . ถีนกิเลส

ถีนกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะหดหู่ท้อถอยจากความเพียร ความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต

8 . อุทธัจจกิเลส

อุทธัจจกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะเกิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่านแห่งจิต

9 . อหิริกกิเลส

อหิริกกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่ละอายในการกระทำบาป กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประพฤติทุจริต อันเป็นสิ่งที่น่าละอาย กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่น่าละอาย

10 . อโนตตัปปกิเลส

อโนตตัปปกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่เกรงกลัวผลของการกระทำบาป กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อผลของการประพฤติทุจริต อันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อผลของการประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อนุสัย 7

อนุสัย คือ กิเลสอย่างละเอียดที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เหมือนตะกอนนอนอยู่ที่ก้นภาชนะ ตะกอนจะฟุ้งขึ้นมาทำน้ำให้ขุ่นเพราะมีคนไปกระทบหรือกวนในภาชนะนั้นฉันใด อนุสัยกิเลสก็เช่นเดียวกัน จะฟุ้งขึ้นมาทำจิตให้ขุ่นมัวต่อเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบก็ฉันนั้น

อนุสัยมี 7 ประการ ได้แก่ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และอวิชชานุสัย

1 . กามราคานุสัย

กามราคานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัด พอใจ ปรารถนาในวัตถุกามทั้งหลาย ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งมากระทบจิตแล้ว ทำจิตให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

2 . ภวราคานุสัย

ภวราคานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัดติดในภพ ได้แก่ การพอใจในฐานะ ตำแหน่ง ยศ ฐานันดรเป็นต้นที่ตนเห็นว่า น่าปรารถนา น่าพอใจ ตลอดจนการเกิดความพอใจ ติดใจในความสุข ที่ได้จากการอุบัติในภพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพ แล้วเกิดความอยากจะเกิดในภพนั้นๆอีก

3 . ปฏิฆานุสัย

ปฏิฆานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ การกระทบกระทั่งทางใจ อันอาศัยรูปเป็นต้นดังกล่าว แต่เป็นไปในทางไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เมื่อสิ่งเหล่านั้นมากระทบจิต ความรู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง จนถึงโกรธประทุษร้ายก็จะเกิดขึ้นแก่จิต

4 . มานานุสัย

มานานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความมานะความถือตัว มานะนี้อาจเกิดมาจากชาติ ตระกูล ทรัพย์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือยศฐาบรรดาศักดิ์ โดยมีการเปรียบเทียบตนว่า ตนสูงกว่าเขา ตนเสมอเขา หรือตนเลวกว่าเขาโดยคำเรียกที่ว่า " อติมานะ " หมายความว่าดูหมิ่นเขาและ " อวมานะ " หมายความว่าดูหมิ่นตน

5 . ทิฏฐานุสัย

ทิฏฐานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความเห็นผิด เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดีทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีบุญคุณใดๆแก่ตน เป็นต้น โดยทิฏฐิเหล่านี้อันนอนสงบนิ่งอยู่ภายในจิต เมื่อได้รับอารมณ์อันเป็นฝ่ายเดียวกับตนมากระทบก็จะเกิดพองฟู และยิ่งจะเพิ่มทิฏฐิความเห็นผิดให้สะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ

6 . วิจิกิจฉานุสัย

วิจิกิจฉานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความลังเลสงสัย ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปไม่ได้ ความสงสัยนั้นอาจสรุปลงในความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ไตรสิกขา กาลเวลาทั้งในอดีตและอนาคต และกฏแห่งปฏิจจสมุปบาท

7 . อวิชชานุสัย

อวิชชานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความเขลา ความไม่รู้ ได้แก่ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ และความไม่รู้ในหนทางสู่ความดับทุกข์

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อุปาทาน 4

อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี 4 ประการ ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน

1 . กามุปาทาน

กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในกาม การที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันตนกำหนดว่า น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นจะมีความรู้สึกว่า " นั่นเป็นของเรา " เช่น เห็นรูปสวยงามเข้าก็อยากได้มาเป็นของตนด้วยอำนาจตัณหา และเมื่อได้มาไว้ในครอบครองแล้ว ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า “ รูปนั่นของเรา ” ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง หรือการ
พลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น

2 . ทิฏฐุปาทาน

ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น ยึดถือในลัทธิธรรมเนียมหรือความเชื่อถือต่างๆ โดยขาดการใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล เช่น ยึดถือว่าการกระทำดีชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งนั้น ไม่มีบุญบาป ไม่มีบิดามารดา ไม่มีพระอริยบุคคล เป็นต้น ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้ยากแล้ว ยังนำไปสู่การแตกแยกหรือทะเลาะเบาะแว้ง จนเป็นผลถึงต้องใช้กำลังประทุษร้ายกันก็มี

3 . สีลัพพตุปาทาน

สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตรและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ตนประพฤติมาจนชิน ด้วยความเข้าใจว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือเข้าใจว่าถูกต้อง เป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่างหรือพิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่างๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง โคบ้าง โดยเข้าใจว่าจากการกระทำเช่นนั้น จะทำให้ตนได้ประสบบุญและเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า จนถึงจะหมดสิ้นทุกข์เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นต้น

4 . อัตตวาทุปาทาน

อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่า “ ตน ” โดยความหมายทั่วไปหมายถึงความยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเราเป็นพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ตนนั้นเองเป็นผู้มีเป็นผู้รับ และเป็นผู้ไปในภพต่างๆ เป็นผู้เสวยผลบุญผลบาปต่างๆ ที่ตนได้เคยกระทำไว้ โดยขาดการพิจารณาตามหลักความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เกิดขึ้น เพราะการประชุมโดยพร้อมกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งมวล

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - คันถะ 4

คันถะ คือ กิเลสที่ร้อยรัดมัดใจสัตว์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏมี 4 ประการ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ พยาบาทกายคันถะ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

1 . อภิชฌากายคันถะ

อภิชฌากายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดอยู่กับความยินดี ชอบใจ อยากได้ อภิชฌาที่เป็นคันถะนี้แตกต่างกับอภิชฌาที่เป็นมโนทุจริต คือ อภิชฌาที่เป็นมโนทุจริตนั้น เป็นโลภะอย่างหยาบ มีสภาพอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม ส่วนอภิชฌาที่เป็นคันถะนี้ เป็นได้ทั้งโลภะอย่างหยาบและอย่างละเอียด ทั้งหมดที่เกี่ยวกับความอยากได้ความชอบใจในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น หรือแม้ของตนเอง จะโดยชอบธรรมก็ตามหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม จัดเป็นอภิชฌากายคันถะทั้งสิ้น

2 . พยาบาทกายคันถะ

พยาบาทกายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดอยู่กับความโกรธ จะถึงกับคิดปองร้ายด้วยหรือไม่ก็ตาม พยาบาทที่เป็นคันถะนี้ แตกต่างกับพยาบาทที่เป็นมโนทุจริต คือ พยาบาทที่เป็นมโนทุจริตนั้น เป็นโทสะอย่างหยาบ เกี่ยวกับการปองร้ายผู้อื่น ตลอดจนการนึกคิดให้เขามีความลำบาก เสียหายต่างๆ หรือนึกแช่งผู้อื่นที่ไม่ชอบนั้นให้ถึงแก่ความตาย ส่วนพยาบาทที่เป็นคันถะนี้ เป็นได้ทั้งโทสะอย่างหยาบและอย่างละเอียด คือเป็นได้ทั้งความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ โกรธ เกลียด กลัว กลุ้มใจ เสียใจ ตลอดไปจนถึงการทำปาณาติบาต ผรุสวาท เหล่านี้จัดเป็นพยาบาทกายคันถะทั้งสิ้น

3 . สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

สีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดให้อยู่ในความชอบใจในการปฏิบัติที่ผิดว่าการปฏิบัติอย่างนี้เองหรือเช่นนี้เอง เป็นทางที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ โดยเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วชอบแล้ว แต่ถ้าหากว่ามีผู้รู้แนะนำสั่งสอนทางที่ถูกต้องให้ ก็สามารถจะกลับใจได้

4 . อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดอยู่ในความชอบใจในการปฏิบัติที่ผิด แต่ว่ารุนแรงมั่นคงแน่วแน่มากกว่าสีลัพพตปรามาสกายคันถะ นอกจากนั้นแล้ว ยังดูหมิ่นและเหยียบย่ำทับถมวาทะ หรือมติของผู้อื่นด้วย ถึงแม้ว่าจะมีผู้รู้มาชี้แจงแสดงเหตุผลในทางที่ถูกที่ชอบประการใดๆ ก็ไม่ยอมกลับใจได้เลย

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - โยคะ 4

โยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับสงสาร เครื่องผูกตรึงไว้กับการเวียนว่ายตายเกิด กิเลสอันเป็นดุจเครื่องผูกตรึงใจสัตว์ มี 4 ประการ ได้แก่ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ

1 . กามโยคะ

กามโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับกาม พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในกามคุณทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส

2 . ภวโยคะ

ภวโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับภพ พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในภพใดภพหนึ่งใน 3 ภพนี้ ได้แก่ กามภพ (ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ) รูปภพ (ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาณ) และอรูปภพ (ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาณ)

3 . ทิฏฐิโยคะ

ทิฏฐิโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับความเห็นผิด พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในความเห็นผิดจากความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม หรือผิดทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นสุขและเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน

4 . อวิชชาโยคะ

อวิชชาโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับความมืดบอดทางปัญญา พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในความไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์และไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - โอฆะ 4

โอฆะ คือ ห้วงน้ำแห่งสงสาร ห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ มี 4 ประการ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ

1 . กาโมฆะ

กาโมฆะ คือ ห้วงแห่งกาม ได้แก่ ความใคร่ ความพอใจ ความยินดี ปรารถนา ต้องการ ความอยากได้ ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันตนผูกใจว่า สิ่งเหล่านั้นน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ และในจิตของตนได้มี " กามธาตุ " คือธาตุความใคร่ในสิ่งนั้นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเขาก็จะดำริถึงรูปเป็นต้นเหล่านั้นด้วยแรงปรารถนา จากการดำริถึงด้วยความใคร่นี้เอง ทำให้ความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนาเกิดขึ้น จึงมีการแสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของตน ด้วยทางถูกบ้างผิดบ้าง จนได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครอง แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยการรักษา การเสื่อมสลายหรือแตกดับไปของสิ่งเหล่านั้น ทุกช่วงของความคิดที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ใจของบุคคลเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ ยิ่งคิด
มาก แสวงหามาก ได้มามาก จิตก็จะถูกท่วมทับด้วยแรงความใคร่ได้ ใคร่มีในวัตถุกามเหล่านั้น จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะใจของคนที่ถูกท่วมทับด้วยกาโมฆะ เป็นจิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่อาจให้เต็มให้อิ่มได้ และด้วยการพยายามตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากกาโมฆะท่วมทับ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด

2 . ภโวฆะ

ภโวฆะ คือ ห้วงแห่งภพ ได้แก่ ความใคร่ในความมีความเป็น เพราะความฝังใจว่า ยศตำแหน่งหรือฐานะนั้นๆ เป็นภาวะที่นำความสุขความยิ่งใหญ่มาให้แก่ตน ทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต ทั้งชาติปัจจุบันและชาติหน้า ความใคร่และความพอใจในฐานะต่างๆนั้น จะแสดงอาการออกมาทำนองเดียวกับกาโมฆะ คือจิตจะดำริถึงสิ่งที่ตนพอใจมากๆ จนเกิดการกำหนด
หมายที่จะได้ฐานะนั้นๆ เกิดความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา จนต้องแสวงหาต่อสู้แย่งชิงกันจนบางครั้งมีการล้มตาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ความปรารถนาของตนยังไม่เต็มแต่ก็ต้องมาตายไปเสียก่อน ยิ่งถ้าเป็นความต้องการให้ภาวะที่ตนต้องการนั้น บังเกิดขึ้นในอนาคตกาลด้วยแล้ว จิตก็จะมีแต่ความวิตกกังวลขาดความเป็นอิสระ เสมือนว่าถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำและเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่จะทำตนให้สวัสดีได้

3 . ทิฏโฐฆะ

ทิฏโฐฆะ คือ ห้วงแห่งความเห็นผิด คำว่า " ทิฏฐิ " นั้นแปลว่าความเห็น โดยปกติเป็นคำกลางๆ คือไม่มีความหมายว่าดีหรือชั่ว แต่เมื่อมาคำเดียวไม่มีคำอื่นต่อหน้าหรือหลัง ท่านหมายเอาความเห็นที่ไม่ดี ในที่นี้มีความหมายไปในทางที่ไม่ดีโดยตรง เพราะเป็นชื่อของกิเลส ความเห็นที่เป็นโอฆะคือทิฏฐิ เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีคุณ กรรมที่ได้ชื่อว่าบุญบาปไม่มี การกระทำที่ว่าเป็นดีเป็นชั่วจึงไม่มี ผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนไม่มีเหตุ ชาติก่อนหรือชาติหน้าก็ไม่มี เป็นต้น ความเห็นผิดในลักษณะต่างๆดังกล่าวนี้ มีอิทธิพลอย่างสำคัญในชีวิตของคน เพราะคนเราจะทำหรือจะพูด ทางกายหรือทางวาจา ก็เกิดมาจากความเห็นภายในจิตใจของเขาเป็นสำคัญ เมื่อมีความเห็นผิดๆ การกระทำของเขาก็ย่อมจะผิดตามไปด้วย และที่เป็นอันตรายมากก็คือ เมื่อเขาปฏิเสธบาปและบุญ ทั้งที่เป็นส่วนเหตุและผล ทำให้เขาขาดความรับผิดชอบในการกระทำ โอฆะคือทิฏฐิจะท่วมทับใจของเขา ให้ไหลไปตามอำนาจของความเห็นผิดนั้นๆ ก่อให้เกิดซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

4 . อวิชโชฆะ

อวิชโชฆะ คือ ห้วงแห่งความมืดบอดทางปัญญา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจัดเป็นอวิชชา 8 ประการ ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้หนทางสู่ความดับทุกข์ ความไม่รู้อดีต ความไม่รู้อนาคต ความไม่รู้ทั้งในอดีตและในอนาคต และความไม่รู้ในธรรมที่เป็นปัจจัยของกันและกัน อาศัยกัน
และกันเกิดขึ้นและดับไป ผู้ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ โอฆะคืออวิชชาย่อมท่วมทับใจของเขา