วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5

นิวรณ์ คือ ธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ขวางกั้นจิตไม่ให้สงบแน่วแน่ลงเป็นสมาธิ มี 5 ประการ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

1 . กามฉันทะ

กามฉันทะ คือ ความชอบความพอใจในการแสวงหา การได้มา การใช้สอย การเก็บสะสม การจำหน่ายจ่ายแจก ในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เพราะอำนาจแห่งตัณหา 3 ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

2 . พยาบาท

พยาบาท คือ ความไม่พอใจ ความผูกอาฆาตจองเวรกัน ยังบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เกิดขึ้นด้วยเหตุต่างๆ ได้แก่ มีอัธยาศัยทางพยาบาทมาแต่กำเนิดเป็นเหตุ จากความคิดตื้นๆไม่รอบคอบลึกซึ้งเป็นเหตุ จากการศึกษาและปฏิบัติธรรมน้อยไปเป็นเหตุ จากการประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนาเป็นเหตุ

อาฆาตวัตถุ หรือมูลเหตุให้เกิดความพยาบาทมี 10 ประการ ดังต่อไปนี้
1 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรามาแล้ว”
2 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
3 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
4 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
5 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”

6 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”
7 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
8 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
9 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
10 . ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่น เดินสะดุดตอไม้และเกิดความโกรธขึ้น


3 . ถีนมิทธะ

ถีนมิทธะ คือ ความง่วงงุน ความเซื่องซึม ความอ่อนใจท้อใจ ความง่วงหงาวหาวนอน ความไม่เอาการเอางาน เป็นเครื่องกั้นความเจริญไม่ให้บรรลุมรรคผล ทำให้หลงๆลืมๆ ห่างไกลจากพระสัทธรรม

4 . อุทธัจจกุกกุจจะ

อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญ เกิดขึ้นด้วยเหตุต่างๆ ได้แก่ ทุจริตที่ตนทำไว้แล้ว สุจริตอันตนยังมิได้กระทำ และการใส่ใจโดยอุบายอันมิแยบคาย

5 . วิจิกิจฉา

วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจ ความตัดสินใจไม่ได้ มีลักษณะของการจับอารมณ์ไว้หลายอย่าง ทำให้การศึกษาและการปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ทำให้ขาดจากศีล สมาธิ และปัญญา อุปมาเหมือนเสือโคร่งใหญ่ คอยดักกินนักเดินทางที่เดินทางผ่านทาง 2 แพร่ง พอนักเดินทางคนใดสงสัยลังเลใจว่าจะไปทางไหนดี เสือโคร่งก็คาบไปกินเสียก่อน ตัวอย่างของวิจิกิจฉา เช่น สงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขาบท สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต และสงสัยในปฏิจจสมุปบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น