วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อุปาทาน 4

อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี 4 ประการ ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน

1 . กามุปาทาน

กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในกาม การที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันตนกำหนดว่า น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นจะมีความรู้สึกว่า " นั่นเป็นของเรา " เช่น เห็นรูปสวยงามเข้าก็อยากได้มาเป็นของตนด้วยอำนาจตัณหา และเมื่อได้มาไว้ในครอบครองแล้ว ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า “ รูปนั่นของเรา ” ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง หรือการ
พลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น

2 . ทิฏฐุปาทาน

ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น ยึดถือในลัทธิธรรมเนียมหรือความเชื่อถือต่างๆ โดยขาดการใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล เช่น ยึดถือว่าการกระทำดีชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งนั้น ไม่มีบุญบาป ไม่มีบิดามารดา ไม่มีพระอริยบุคคล เป็นต้น ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้ยากแล้ว ยังนำไปสู่การแตกแยกหรือทะเลาะเบาะแว้ง จนเป็นผลถึงต้องใช้กำลังประทุษร้ายกันก็มี

3 . สีลัพพตุปาทาน

สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตรและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ตนประพฤติมาจนชิน ด้วยความเข้าใจว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือเข้าใจว่าถูกต้อง เป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่างหรือพิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่างๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง โคบ้าง โดยเข้าใจว่าจากการกระทำเช่นนั้น จะทำให้ตนได้ประสบบุญและเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า จนถึงจะหมดสิ้นทุกข์เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นต้น

4 . อัตตวาทุปาทาน

อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่า “ ตน ” โดยความหมายทั่วไปหมายถึงความยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเราเป็นพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ตนนั้นเองเป็นผู้มีเป็นผู้รับ และเป็นผู้ไปในภพต่างๆ เป็นผู้เสวยผลบุญผลบาปต่างๆ ที่ตนได้เคยกระทำไว้ โดยขาดการพิจารณาตามหลักความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เกิดขึ้น เพราะการประชุมโดยพร้อมกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งมวล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น