วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทกขสมุทัย - กิเลส 10

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์ กิเลสมี 10 ประการ ได้แก่ โลภกิเลส โทสกิเลส โมหกิเลส มานกิเลส ทิฏฐิกิเลส วิจิกิจฉากิเลส ถีนกิเลส อุทธัจจกิเลส อหิริกกิเลส และอโนตตัปปกิเลส

1 . โลภกิเลส

โลภกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะยินดีชอบใจในอารมณ์ ความกำหนัด ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความหมกมุ่น ความใคร่ ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ความหวังรูป ความหวังเสียง ความหวังกลิ่น ความหวังรส ความหวังสัมผัส ความหวังลาภ ความหวังทรัพย์ ความหวังบุตร ความหวังชีวิต ความใคร่ในอารมณ์ดีๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจความปรารถนา ความกระหยิ่มใจ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ และตัณหาในอรูปภพ

2 . โทสกิเลส

โทสกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่ชอบใจในอารมณ์ ความขัดเคือง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง ความขุ่นเคือง ความพลุ่งพล่าน ความคิดประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความขุ่นจิต โกรธ กิริยาที่โกรธ ความโกรธ การคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ความคิดปองร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต มีอาฆาตวัตถุ หรือมูลเหตุให้เกิดความพยาบาท 10 ประการ ดังต่อไปนี้

1) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรามาแล้ว”
2) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
3) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
4) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
5) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”
6) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”
7) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
8) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
9) . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
10) . ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่น เดินสะดุดตอไม้และเกิดความโกรธขึ้น

3 . โมหกิเลส

โมหกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความมัวเมาลุ่มหลง ปราศจากสติสัมปชัญญะ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า " เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงเกิดขึ้น " ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ การไม่พิจารณา การไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความ
ไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล ทั้งหมดนี้แหละคือ " โมหกิเลส "

4 . มานกิเลส

มานกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อนเพราะความทะนงตน การถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง การยกจิตขึ้น โดยมานกิเลสนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 9 ประการ ดังต่อไปนี้

1) . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
2) . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
3) . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
4) . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
5) . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
6) . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
7) . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
8) . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
9) . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา

5 . ทิฏฐิกิเลส

ทิฏฐิกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความเห็นผิดจากเหตุผลตามความเป็นจริง เช่น ความเห็นว่าโลกเที่ยง ว่าโลกไม่เที่ยง ว่าโลกมีที่สุด ว่าโลกไม่มีที่สุด ความผันแปรแห่งทิฏฐิ ความยึดถือผิด ความตั้งมั่นผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิอันเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ และเป็นการยึดถือโดยความวิปลาส

6 . วิจิกิจฉากิเลส

วิจิกิจฉากิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะความสงสัยลังเลใจ หรือความเคลือบแคลงใจในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขาบท ในกาลอดีต ในกาลอนาคต ทั้งในกาลอดีตและกาลอนาคต ในปฏิจจสมุปปาทธรรมว่า " เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัยธรรมนี้จึงเกิดขึ้น " การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆนานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป และความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติ

7 . ถีนกิเลส

ถีนกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะหดหู่ท้อถอยจากความเพียร ความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต

8 . อุทธัจจกิเลส

อุทธัจจกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะเกิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่านแห่งจิต

9 . อหิริกกิเลส

อหิริกกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่ละอายในการกระทำบาป กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประพฤติทุจริต อันเป็นสิ่งที่น่าละอาย กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่น่าละอาย

10 . อโนตตัปปกิเลส

อโนตตัปปกิเลส คือ กิเลสที่ทำให้ใจเศร้าหมองและเร่าร้อน เพราะไม่เกรงกลัวผลของการกระทำบาป กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อผลของการประพฤติทุจริต อันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อผลของการประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย อันเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อนุสัย 7

อนุสัย คือ กิเลสอย่างละเอียดที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เหมือนตะกอนนอนอยู่ที่ก้นภาชนะ ตะกอนจะฟุ้งขึ้นมาทำน้ำให้ขุ่นเพราะมีคนไปกระทบหรือกวนในภาชนะนั้นฉันใด อนุสัยกิเลสก็เช่นเดียวกัน จะฟุ้งขึ้นมาทำจิตให้ขุ่นมัวต่อเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบก็ฉันนั้น

อนุสัยมี 7 ประการ ได้แก่ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และอวิชชานุสัย

1 . กามราคานุสัย

กามราคานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัด พอใจ ปรารถนาในวัตถุกามทั้งหลาย ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งมากระทบจิตแล้ว ทำจิตให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

2 . ภวราคานุสัย

ภวราคานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัดติดในภพ ได้แก่ การพอใจในฐานะ ตำแหน่ง ยศ ฐานันดรเป็นต้นที่ตนเห็นว่า น่าปรารถนา น่าพอใจ ตลอดจนการเกิดความพอใจ ติดใจในความสุข ที่ได้จากการอุบัติในภพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพ แล้วเกิดความอยากจะเกิดในภพนั้นๆอีก

3 . ปฏิฆานุสัย

ปฏิฆานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ การกระทบกระทั่งทางใจ อันอาศัยรูปเป็นต้นดังกล่าว แต่เป็นไปในทางไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เมื่อสิ่งเหล่านั้นมากระทบจิต ความรู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง จนถึงโกรธประทุษร้ายก็จะเกิดขึ้นแก่จิต

4 . มานานุสัย

มานานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความมานะความถือตัว มานะนี้อาจเกิดมาจากชาติ ตระกูล ทรัพย์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือยศฐาบรรดาศักดิ์ โดยมีการเปรียบเทียบตนว่า ตนสูงกว่าเขา ตนเสมอเขา หรือตนเลวกว่าเขาโดยคำเรียกที่ว่า " อติมานะ " หมายความว่าดูหมิ่นเขาและ " อวมานะ " หมายความว่าดูหมิ่นตน

5 . ทิฏฐานุสัย

ทิฏฐานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความเห็นผิด เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดีทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีบุญคุณใดๆแก่ตน เป็นต้น โดยทิฏฐิเหล่านี้อันนอนสงบนิ่งอยู่ภายในจิต เมื่อได้รับอารมณ์อันเป็นฝ่ายเดียวกับตนมากระทบก็จะเกิดพองฟู และยิ่งจะเพิ่มทิฏฐิความเห็นผิดให้สะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ

6 . วิจิกิจฉานุสัย

วิจิกิจฉานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความลังเลสงสัย ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปไม่ได้ ความสงสัยนั้นอาจสรุปลงในความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ไตรสิกขา กาลเวลาทั้งในอดีตและอนาคต และกฏแห่งปฏิจจสมุปบาท

7 . อวิชชานุสัย

อวิชชานุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน ที่มาปรุงแต่งจิตให้เกิดความเขลา ความไม่รู้ ได้แก่ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ และความไม่รู้ในหนทางสู่ความดับทุกข์

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อุปาทาน 4

อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี 4 ประการ ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน

1 . กามุปาทาน

กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในกาม การที่จิตเข้าไปยึดถือในวัตถุกามทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันตนกำหนดว่า น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ความยึดถือของจิตนั้นจะมีความรู้สึกว่า " นั่นเป็นของเรา " เช่น เห็นรูปสวยงามเข้าก็อยากได้มาเป็นของตนด้วยอำนาจตัณหา และเมื่อได้มาไว้ในครอบครองแล้ว ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า “ รูปนั่นของเรา ” ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะยึดถือรูปเป็นต้น อย่างอื่นในทำนองเดียวกัน ความทุกข์ในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เพราะการแสวงหา การครอบครอง การเปลี่ยนแปลง หรือการ
พลัดพรากไปของวัตถุกามเหล่านั้น

2 . ทิฏฐุปาทาน

ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น ยึดถือในลัทธิธรรมเนียมหรือความเชื่อถือต่างๆ โดยขาดการใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล เช่น ยึดถือว่าการกระทำดีชั่วไม่มี ความสุขความทุกข์ในชีวิตของคนไม่ได้เกิดมาจากเหตุอะไรทั้งนั้น ไม่มีบุญบาป ไม่มีบิดามารดา ไม่มีพระอริยบุคคล เป็นต้น ความยึดถือบางอย่างนอกจากจะละได้ยากแล้ว ยังนำไปสู่การแตกแยกหรือทะเลาะเบาะแว้ง จนเป็นผลถึงต้องใช้กำลังประทุษร้ายกันก็มี

3 . สีลัพพตุปาทาน

สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในศีลวัตรและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ตนประพฤติมาจนชิน ด้วยความเข้าใจว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ หรือเข้าใจว่าถูกต้อง เป็นต้น โดยทั่วไปเช่นการยึดติดในธรรมเนียมบางอย่างหรือพิธีกรรมบางประเภท ถือฤกษ์ผานาที ทิศดีทิศไม่ดี วันดีวันร้าย จนถึงการถือวัตรปฏิบัติที่งมงายต่างๆ เช่น การทำตนเลียนแบบสุนัขบ้าง โคบ้าง โดยเข้าใจว่าจากการกระทำเช่นนั้น จะทำให้ตนได้ประสบบุญและเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า จนถึงจะหมดสิ้นทุกข์เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นต้น

4 . อัตตวาทุปาทาน

อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นวาทะว่า “ ตน ” โดยความหมายทั่วไปหมายถึงความยึดถือในทำนองแบ่งเป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเราเป็นพวกเขา จนถึงการยึดถือว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ตนนั้นเองเป็นผู้มีเป็นผู้รับ และเป็นผู้ไปในภพต่างๆ เป็นผู้เสวยผลบุญผลบาปต่างๆ ที่ตนได้เคยกระทำไว้ โดยขาดการพิจารณาตามหลักความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เกิดขึ้น เพราะการประชุมโดยพร้อมกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งมวล

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - คันถะ 4

คันถะ คือ กิเลสที่ร้อยรัดมัดใจสัตว์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏมี 4 ประการ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ พยาบาทกายคันถะ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

1 . อภิชฌากายคันถะ

อภิชฌากายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดอยู่กับความยินดี ชอบใจ อยากได้ อภิชฌาที่เป็นคันถะนี้แตกต่างกับอภิชฌาที่เป็นมโนทุจริต คือ อภิชฌาที่เป็นมโนทุจริตนั้น เป็นโลภะอย่างหยาบ มีสภาพอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม ส่วนอภิชฌาที่เป็นคันถะนี้ เป็นได้ทั้งโลภะอย่างหยาบและอย่างละเอียด ทั้งหมดที่เกี่ยวกับความอยากได้ความชอบใจในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น หรือแม้ของตนเอง จะโดยชอบธรรมก็ตามหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม จัดเป็นอภิชฌากายคันถะทั้งสิ้น

2 . พยาบาทกายคันถะ

พยาบาทกายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดอยู่กับความโกรธ จะถึงกับคิดปองร้ายด้วยหรือไม่ก็ตาม พยาบาทที่เป็นคันถะนี้ แตกต่างกับพยาบาทที่เป็นมโนทุจริต คือ พยาบาทที่เป็นมโนทุจริตนั้น เป็นโทสะอย่างหยาบ เกี่ยวกับการปองร้ายผู้อื่น ตลอดจนการนึกคิดให้เขามีความลำบาก เสียหายต่างๆ หรือนึกแช่งผู้อื่นที่ไม่ชอบนั้นให้ถึงแก่ความตาย ส่วนพยาบาทที่เป็นคันถะนี้ เป็นได้ทั้งโทสะอย่างหยาบและอย่างละเอียด คือเป็นได้ทั้งความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ โกรธ เกลียด กลัว กลุ้มใจ เสียใจ ตลอดไปจนถึงการทำปาณาติบาต ผรุสวาท เหล่านี้จัดเป็นพยาบาทกายคันถะทั้งสิ้น

3 . สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

สีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดให้อยู่ในความชอบใจในการปฏิบัติที่ผิดว่าการปฏิบัติอย่างนี้เองหรือเช่นนี้เอง เป็นทางที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ โดยเข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วชอบแล้ว แต่ถ้าหากว่ามีผู้รู้แนะนำสั่งสอนทางที่ถูกต้องให้ ก็สามารถจะกลับใจได้

4 . อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ คือ กิเลสที่ผูกมัดอยู่ในความชอบใจในการปฏิบัติที่ผิด แต่ว่ารุนแรงมั่นคงแน่วแน่มากกว่าสีลัพพตปรามาสกายคันถะ นอกจากนั้นแล้ว ยังดูหมิ่นและเหยียบย่ำทับถมวาทะ หรือมติของผู้อื่นด้วย ถึงแม้ว่าจะมีผู้รู้มาชี้แจงแสดงเหตุผลในทางที่ถูกที่ชอบประการใดๆ ก็ไม่ยอมกลับใจได้เลย

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - โยคะ 4

โยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับสงสาร เครื่องผูกตรึงไว้กับการเวียนว่ายตายเกิด กิเลสอันเป็นดุจเครื่องผูกตรึงใจสัตว์ มี 4 ประการ ได้แก่ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ

1 . กามโยคะ

กามโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับกาม พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในกามคุณทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส

2 . ภวโยคะ

ภวโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับภพ พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในภพใดภพหนึ่งใน 3 ภพนี้ ได้แก่ กามภพ (ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ) รูปภพ (ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาณ) และอรูปภพ (ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาณ)

3 . ทิฏฐิโยคะ

ทิฏฐิโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับความเห็นผิด พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในความเห็นผิดจากความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม หรือผิดทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นสุขและเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน

4 . อวิชชาโยคะ

อวิชชาโยคะ คือ เครื่องผูกตรึงไว้กับความมืดบอดทางปัญญา พาสัตว์ให้ตรึงติดอยู่ในความไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง เช่น ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์และไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - โอฆะ 4

โอฆะ คือ ห้วงน้ำแห่งสงสาร ห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ มี 4 ประการ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และอวิชโชฆะ

1 . กาโมฆะ

กาโมฆะ คือ ห้วงแห่งกาม ได้แก่ ความใคร่ ความพอใจ ความยินดี ปรารถนา ต้องการ ความอยากได้ ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันตนผูกใจว่า สิ่งเหล่านั้นน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ และในจิตของตนได้มี " กามธาตุ " คือธาตุความใคร่ในสิ่งนั้นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเขาก็จะดำริถึงรูปเป็นต้นเหล่านั้นด้วยแรงปรารถนา จากการดำริถึงด้วยความใคร่นี้เอง ทำให้ความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนาเกิดขึ้น จึงมีการแสวงหาเพื่อสนองตอบความต้องการของตน ด้วยทางถูกบ้างผิดบ้าง จนได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครอง แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยการรักษา การเสื่อมสลายหรือแตกดับไปของสิ่งเหล่านั้น ทุกช่วงของความคิดที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ใจของบุคคลเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ ยิ่งคิด
มาก แสวงหามาก ได้มามาก จิตก็จะถูกท่วมทับด้วยแรงความใคร่ได้ ใคร่มีในวัตถุกามเหล่านั้น จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะใจของคนที่ถูกท่วมทับด้วยกาโมฆะ เป็นจิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่อาจให้เต็มให้อิ่มได้ และด้วยการพยายามตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากกาโมฆะท่วมทับ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด

2 . ภโวฆะ

ภโวฆะ คือ ห้วงแห่งภพ ได้แก่ ความใคร่ในความมีความเป็น เพราะความฝังใจว่า ยศตำแหน่งหรือฐานะนั้นๆ เป็นภาวะที่นำความสุขความยิ่งใหญ่มาให้แก่ตน ทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต ทั้งชาติปัจจุบันและชาติหน้า ความใคร่และความพอใจในฐานะต่างๆนั้น จะแสดงอาการออกมาทำนองเดียวกับกาโมฆะ คือจิตจะดำริถึงสิ่งที่ตนพอใจมากๆ จนเกิดการกำหนด
หมายที่จะได้ฐานะนั้นๆ เกิดความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา จนต้องแสวงหาต่อสู้แย่งชิงกันจนบางครั้งมีการล้มตาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ความปรารถนาของตนยังไม่เต็มแต่ก็ต้องมาตายไปเสียก่อน ยิ่งถ้าเป็นความต้องการให้ภาวะที่ตนต้องการนั้น บังเกิดขึ้นในอนาคตกาลด้วยแล้ว จิตก็จะมีแต่ความวิตกกังวลขาดความเป็นอิสระ เสมือนว่าถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำและเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่จะทำตนให้สวัสดีได้

3 . ทิฏโฐฆะ

ทิฏโฐฆะ คือ ห้วงแห่งความเห็นผิด คำว่า " ทิฏฐิ " นั้นแปลว่าความเห็น โดยปกติเป็นคำกลางๆ คือไม่มีความหมายว่าดีหรือชั่ว แต่เมื่อมาคำเดียวไม่มีคำอื่นต่อหน้าหรือหลัง ท่านหมายเอาความเห็นที่ไม่ดี ในที่นี้มีความหมายไปในทางที่ไม่ดีโดยตรง เพราะเป็นชื่อของกิเลส ความเห็นที่เป็นโอฆะคือทิฏฐิ เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีคุณ กรรมที่ได้ชื่อว่าบุญบาปไม่มี การกระทำที่ว่าเป็นดีเป็นชั่วจึงไม่มี ผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนไม่มีเหตุ ชาติก่อนหรือชาติหน้าก็ไม่มี เป็นต้น ความเห็นผิดในลักษณะต่างๆดังกล่าวนี้ มีอิทธิพลอย่างสำคัญในชีวิตของคน เพราะคนเราจะทำหรือจะพูด ทางกายหรือทางวาจา ก็เกิดมาจากความเห็นภายในจิตใจของเขาเป็นสำคัญ เมื่อมีความเห็นผิดๆ การกระทำของเขาก็ย่อมจะผิดตามไปด้วย และที่เป็นอันตรายมากก็คือ เมื่อเขาปฏิเสธบาปและบุญ ทั้งที่เป็นส่วนเหตุและผล ทำให้เขาขาดความรับผิดชอบในการกระทำ โอฆะคือทิฏฐิจะท่วมทับใจของเขา ให้ไหลไปตามอำนาจของความเห็นผิดนั้นๆ ก่อให้เกิดซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

4 . อวิชโชฆะ

อวิชโชฆะ คือ ห้วงแห่งความมืดบอดทางปัญญา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจัดเป็นอวิชชา 8 ประการ ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้หนทางสู่ความดับทุกข์ ความไม่รู้อดีต ความไม่รู้อนาคต ความไม่รู้ทั้งในอดีตและในอนาคต และความไม่รู้ในธรรมที่เป็นปัจจัยของกันและกัน อาศัยกัน
และกันเกิดขึ้นและดับไป ผู้ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ โอฆะคืออวิชชาย่อมท่วมทับใจของเขา

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อาสวะ 4

อาสวะ คือ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบกับอารมณ์ต่างๆ มี 4 ประการ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ

1 . กามาสวะ

กามาสวะ คือ กิเลสอันหมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้เกิดความใคร่และจมอยู่หรือติดใจอยู่ในการแสวงหากามคุณทั้ง 5 ประการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส

2 . ภวาสวะ

ภวาสวะ คือ กิเลสอันหมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้อยากมีอยากเป็นและจมอยู่หรือติดใจอยู่ในความชอบใจยินดีต่อภพใดภพหนึ่งใน 3 ภพนี้ ได้แก่ กามภพ (ภพของมนุษย์) รูปภพ (ภพของรูปพรหม) และอรูปภพ (ภพของอรูปพรหม)

3 . ทิฏฐาสวะ

ทิฏฐาสวะ คือ กิเลสอันหมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้เกิดทิฏฐิและจมอยู่หรือติดใจอยู่ในความเห็นผิดจากความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม หรือผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นสุข และเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน

4 . อวิชชาสวะ

อวิชชาสวะ คือ กิเลสอันหมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริงและจมอยู่หรือติดใจอยู่ในความไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริงนั้น เช่น การไม่รู้ในทุกข์ การไม่รู้ในเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ การไม่รู้ในความดับทุกข์ และการไม่รู้ในหนทางที่ทำให้ถึงความดับทุกข์

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - สังโยชน์ 10

สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับภพกับชาติมี 10 ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

1 . สักกายทิฏฐิ

สักกายทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดในขันธ์ 5 คือเห็นว่าขันธ์นั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา เช่น ในการยืนเข้าใจว่าเรายืน ในการเดินเข้าใจว่าเราเดิน ในการนั่งเข้าใจว่าเรานั่ง ในการนอนเข้าใจว่าเรานอน ซึ่งแท้ที่จริงเราไม่ได้ยืน เราไม่ได้เดิน เราไม่ได้นั่ง และเราไม่ได้นอน หากแต่เป็นการประกอบกันขึ้นแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ต่างหากที่เป็นตัวกระทำ

2 . วิจิกิจฉา

วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจ ความตัดสินใจไม่ได้ มีลักษณะของการจับอารมณ์ไว้หลายอย่าง ทำให้การศึกษาและการปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ทำให้ขาดจากศีล สมาธิ และปัญญา อุปมาเหมือนเสือโคร่งใหญ่ คอยดักกินนักเดินทางที่เดินทางผ่านทาง 2 แพร่ง พอนักเดินทางคนใดสงสัยลังเลใจว่าจะไปทางไหนดี เสือโคร่งก็คาบไปกินเสียก่อน ตัวอย่างของวิจิกิจฉา เช่น สงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขาบท สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต และสงสัยในปฏิจจสมุปบาท

3 . สีลัพพตปรามาส

สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ หมายความว่า เป็นการปฏิบัติที่ผิดไปจากความจริง ผิดไปจากทางที่ถูก หรือการถือผิดนั่นเอง เช่นการยึดถือว่า ศีลที่ปฏิบัติอย่างนี้ วัตรที่ปฏิบัติอย่างนี้ จะพาให้เราพ้นทุกข์ได้เป็นแน่ๆ หรือความเขา้ ใจผิดที่ว่า การแสดงความเคารพนับถือด้วยการกราบไหววิงวอน เช่น
บวงสรวงเทพยดา เจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผีปีศาจต่างๆ ด้วยความหวังว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้วจะมีความสุข หรือความเข้าใจผิดที่ว่า การบำเพ็ญอัตตกิลมถานุโยค โดยการนอนบนหนาม ใช้เข็มแทงตน ยืนขาเดียว เป็นทางนำไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ หรือความเข้าใจผิดที่ว่า การบำเพ็ญกามสุขัลลิกานุโยค โดยการบำเรอตนด้วยกามสุขต่างๆนานา เป็นทางนำไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ ความเข้าใจผิดเหล่านี้ ล้วนเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งสิ้น

4 . กามราคะ

กามราคะ คือ ความชอบความพอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เข้ามากระทบ เรียกอีกอย่างว่า " โลภะ " แบ่งเป็น 3 ประการ ประการแรกได้แก่กามราคะที่นำไปสู่อบายภูมิ เนื่องจากกามคุณที่มายั่วยวนนั้น นำไปสู่การล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น การล่วงกาเมสุมิจฉาจาร ประการต่อมาได้แก่กามราคะอย่างหยาบ คือเมื่อกามคุณมายั่วยวนจะเกิดความพอใจอยู่ภายในใจเพียงเล็กน้อย ไม่อาจผลักดันให้ถึงกับทุศีลได้ และประการสุดท้ายได้แก่กามราคะอย่างละเอียด คือเมื่อกามคุณมายั่วยวน ก็ไม่อาจก่อให้เกิดความพอใจในใจขึ้นได้ แม้เพียงเล็กน้อย

5 . ปฏิฆะ

ปฏิฆะ คือ ความไม่ชอบความไม่พอใจในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เข้ามากระทบ เรียกอีกอย่างว่า " โทสะ " แบ่งเป็น 3 ประการ ประการแรกได้แก่ ปฏิฆะที่นำไปสู่อบายภูมิ เนื่องจากกามคุณที่มายั่วยวนนั้น นำไปสู่การล่วงอกุศลกรรมบถ เช่น การล่วงปาณาติบาต ประการต่อมาได้แก่ปฏิฆะอย่างหยาบ คือเมื่อกามคุณมายั่วยวน จะเกิดความไม่พอใจอยู่ภายในใจเพียงเล็กน้อย ไม่อาจผลักดันให้ถึงกับทุศีลได้ และประการสุดท้ายได้แก่ปฏิฆะอย่างละเอียด คือเมื่อกามคุณมายั่วยวน ก็ไม่อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจในใจขึ้นได้แม้เพียงเล็กน้อย

6 . รูปราคะ

รูปราคะ คือ ความพอใจยินดีในรูปภพ คือมีความพอใจในการปฏิบัติสมถกรรมฐานในส่วนรูปฌาน ด้วยคาดหมายว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปปฏิสนธิในรูปภพ เหตุที่กล่าวว่าการมุ่งปฏิบัติสมถกรรมฐานนั้น เหตุใดจึงเป็นสังโยชน์ ก็เพราะว่าอานิสงส์ของการเจริญสมถกรรมฐาน ย่อมให้ผลปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ อันเป็นการติดอยู่ในรูปภพ เมื่อยังติดอยู่ในรูปภพ ก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจของสังโยชน์ การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เจริญสมาธินั้น ก็เพื่อจะให้เอาสมาธินั้นมาเป็นบาทของปัญญา หมายความว่า เมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานจนได้รูปฌานแล้วก็ให้เอารูปฌานนั้นมาเป็นบาทสำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ไม่ให้ติดอยู่กับสมาธิ เพราะถ้าติดอยู่กับสมาธิ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าติดอยู่ในสังโยชน์ ไม่สามารถจะพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ได้

7 . อรูปราคะ

อรูปราคะ คือ ความพอใจยินดีในอรูปภพ คือมีความพอใจในการปฏิบัติสมถกรรมฐานในส่วนอรูปฌาน ด้วยคาดหมายว่า เมื่อตนละจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปปฏิสนธิในอรูปภพ เหตุที่กล่าวว่าการมุ่งปฏิบัติสมถกรรมฐานนั้น เหตุใดจึงเป็นสังโยชน์ ก็เพราะว่าอานิสงส์ของการเจริญสมถกรรมฐาน ย่อมให้ผลปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ อันเป็นการติดอยู่ในอรูปภพ เมื่อยังติด
อยู่ในอรูปภพ ก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจของสังโยชน์ การที่พระพุทธศาสนาสอนให้เจริญสมาธินั้นก็เพื่อจะให้เอาสมาธินั้นมาเป็นบาทของปัญญา หมายความว่า เมื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานจนได้อรูปฌานแล้ว ก็ให้เอาอรูปฌานนั้นมาเป็นบาทสำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป (สำหรับอรูปฌานนั้น ต้องถอยกลับมาสู่รูปฌานก่อน หรือออกจากอรูปฌานก่อน จึงจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปได้) ไม่ให้ติดอยู่กับสมาธิ เพราะถ้าติดอยู่กับสมาธิ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าติดอยู่ในสังโยชน์ ไม่สามารถจะพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ได้

8 . มานะ

มานะ คือ ความถือตัวในความเป็นเราเป็นเขา ความเห็นผิด ความเห็นที่ยังไม่ถูกต้องตามสภาวะที่แท้จริง มานะจำแนกได้เป็น 9 ประการ ดังต่อไปนี้

1 . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
2 . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
3 . ตัวประเสริฐกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
4 . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
5 . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
6 . ตัวเสมอเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา
7 . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
8 . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา
9 . ตัวเลวกว่าเขา ถือตัวว่าเลวกว่าเขา

9 . อุทธัจจะ

อุทธัจจะ คือ เจตสิกที่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน จับอารมณ์ไม่มั่น จับอารมณ์ไม่แน่นอน เป็นธรรมที่กั้นใจคนไว้ไม่ให้เกิดมหากุศลไม่ให้เกิดสมาธิ ไม่ให้เกิดปัญญา ห่างจากพระสัทธรรม

10 . อวิชชา

อวิชชา คือ ความรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ ความไม่เข้าใจในขันธ์ 5 ความไม่เห็นอริยสัจ 4 ปกปิดความจริง ความบอดแห่งจิต (โดยนัยแห่งอภิธรรมเน้นเฉพาะความไม่รู้ในอริยสัจ 4 ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ และความไม่รู้ในหนทางสู่ความดับทุกข์)

วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5

นิวรณ์ คือ ธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ขวางกั้นจิตไม่ให้สงบแน่วแน่ลงเป็นสมาธิ มี 5 ประการ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

1 . กามฉันทะ

กามฉันทะ คือ ความชอบความพอใจในการแสวงหา การได้มา การใช้สอย การเก็บสะสม การจำหน่ายจ่ายแจก ในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เพราะอำนาจแห่งตัณหา 3 ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

2 . พยาบาท

พยาบาท คือ ความไม่พอใจ ความผูกอาฆาตจองเวรกัน ยังบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เกิดขึ้นด้วยเหตุต่างๆ ได้แก่ มีอัธยาศัยทางพยาบาทมาแต่กำเนิดเป็นเหตุ จากความคิดตื้นๆไม่รอบคอบลึกซึ้งเป็นเหตุ จากการศึกษาและปฏิบัติธรรมน้อยไปเป็นเหตุ จากการประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีไม่น่าปรารถนาเป็นเหตุ

อาฆาตวัตถุ หรือมูลเหตุให้เกิดความพยาบาทมี 10 ประการ ดังต่อไปนี้
1 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรามาแล้ว”
2 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
3 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา”
4 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
5 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”

6 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา”
7 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้ได้ทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรามาแล้ว”
8 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้กำลังทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
9 . ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า “ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา”
10 . ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่น เดินสะดุดตอไม้และเกิดความโกรธขึ้น


3 . ถีนมิทธะ

ถีนมิทธะ คือ ความง่วงงุน ความเซื่องซึม ความอ่อนใจท้อใจ ความง่วงหงาวหาวนอน ความไม่เอาการเอางาน เป็นเครื่องกั้นความเจริญไม่ให้บรรลุมรรคผล ทำให้หลงๆลืมๆ ห่างไกลจากพระสัทธรรม

4 . อุทธัจจกุกกุจจะ

อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญ เกิดขึ้นด้วยเหตุต่างๆ ได้แก่ ทุจริตที่ตนทำไว้แล้ว สุจริตอันตนยังมิได้กระทำ และการใส่ใจโดยอุบายอันมิแยบคาย

5 . วิจิกิจฉา

วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจ ความตัดสินใจไม่ได้ มีลักษณะของการจับอารมณ์ไว้หลายอย่าง ทำให้การศึกษาและการปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ทำให้ขาดจากศีล สมาธิ และปัญญา อุปมาเหมือนเสือโคร่งใหญ่ คอยดักกินนักเดินทางที่เดินทางผ่านทาง 2 แพร่ง พอนักเดินทางคนใดสงสัยลังเลใจว่าจะไปทางไหนดี เสือโคร่งก็คาบไปกินเสียก่อน ตัวอย่างของวิจิกิจฉา เช่น สงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขาบท สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต และสงสัยในปฏิจจสมุปบาท

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย - อกุศลกรรมบถ 10

อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งกรรมชั่ว อันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี 10 ประการ แบ่งเป็นทางกาย 3 ประการ ได้แก่ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร ทางวาจา 4 ประการ ได้แก่ มุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาท และสัมผัปปลาปะ ทางใจ 3 ประการ ได้แก่อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ

1 . ปาณาติบาต

ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนทางกายให้ได้รับทุกข์ ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่จริงๆ เราก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิตอยู่ มีจิตหรือเจตนาที่จะฆ่าสัตว์นั้นให้ตาย ทำความเพียรเพื่อจะฆ่าสัตว์นั้น สัตว์นั้นก็ตายเพราะความเพียรนั้น 

ผลของปาณาติบาตในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของปาณาติบาตในปวัตติกาล ได้แก่ ทุพพลภาพ รูปไม่งาม กำลังกายอ่อนแอกำลังกายเฉื่อยชา กำลังปัญญาไม่ว่องไว เป็นคนขลาดหวาดกลัว ฆ่าตนเองหรือถูกผู้อื่นฆ่า โรคภัยเบียดเบียน เกิดความพินาศของบริวาร และอายุสั้น

2 . อทินนาทาน

อทินนาทาน คือ การลักขโมย การจี้ การปล้น ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น ผู้กระทำการลักทรัพย์ก็รู้โดยชัดแจ้งว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น มีจิตหรือมีเจตนาพยายามที่จะลักทรัพย์นั้นให้ได้ มีความเพียรพยายามที่จะลักทรัพย์นั้น ได้ทรัพย์มาสำเร็จเพราะความเพียรที่จะลักทรัพย์นั้น 

ผลของอทินนาทานในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของอทินนาทานในปวัตติกาลได้แก่ ด้อยทรัพย์ ยากจนค่นแค้น มีความอดอยาก ไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา พินาศในการค้าขาย ทรัพย์ของตนพินาศเพราะอัคคีภัย อุทกภัย และภัยจากโจรขโมย

3 . กาเมสุมิจฉาจาร

กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม การล่วงละเมิดลูกเมียผู้อื่น ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่สมควรเสพตามกฏหมายหรือตามประเพณี มีจิตคิดที่จะเสพ มีความพากเพียรพยายามที่จะเสพ ทำการเสพ 

ผลของกาเมสุมิจฉาจารในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของกาเมสุมิจฉาจารในปวัตติกาล ได้แก่ มีผู้เกลียดชังมาก มีผู้ปองร้ายมาก ขัดสนในทรัพย์ยากจนอดอยาก เป็นกะเทย เป็นชายในตระกูลต่ำ ได้รับความอับอายเป็นอาจิณ ร่างกายไม่สมประกอบ มากไปด้วยความวิตกห่วงใย และพลัดพรากจากผู้ที่ตนรัก

อนึ่ง การดื่มสุราหรือการเสพของมึนเมา ก็จัดอยู่ในอกุศลกรรมประเภทกาเมสุมิจฉาจารด้วย องค์ประกอบของการดื่มสุรา ได้แก่ สิ่งนั้นเป็นของมึนเมา มีเจตนาเพื่อที่จะดื่มหรือเสพหรือกิน กระทำการดื่มการเสพการกิน สุรานั้นล่วงลำคอลงไปแล้ว ผลของการดื่มสุราหรือการเสพของมึนเมาในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของการดื่มสุราหรือการเสพของมึนเมาในปวัตติกาล ได้แก่ ทรัพย์ถูกทำลาย เกิดวิวาทบาดหมาง เป็นบ่อเกิดของโรค เสื่อมเกียรติ หมดยางอาย และปัญญาเสื่อมถอย

4 . มุสาวาท

มุสาวาท คือ การพูดเท็จ การพูดโกหก การพูดปด การพูดหลอกลวง ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง มีจิตหรือเจตนาที่คิดจะพูดโกหกประกอบด้วยความเพียรที่โกหกให้คนเชื่อ ผู้ที่ได้ฟังหรืออ่านลายลักษณ์อักษรแล้วก็มีความเชื่อตามนั้น 

ผลของมุสาวาทในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน ผลของมุสาวาทในปวัตติกาล ได้แก่ พูดไม่ชัด ฟันไม่มีระเบียบ ปากเหม็นมาก ไอตัวร้อนจัด ตาไม่อยู่ในระดับปกติ พูดด้วยปลายลิ้นหรือปลายปาก ท่าทางไม่สง่าผ่าเผย และจิตไม่เที่ยงคล้ายคนวิกลจริต

5 . ปิสุณาวาท

ปิสุณาวาท คือ การพูดส่อเสียด พูดให้เขาแตกร้าวกัน ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีคนหมู่มากหรือน้อยที่ต้องการให้เขามีความแตกแยกซึ่งกันและกันเกิดขึ้น มีความปรารถนาหรือเจตนาต้องการให้คนหมู่นั้นแตกแยกกัน เพียรพยายามที่จะให้เขาแตกแยกกัน 

ผลของปิสุณาวาทในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ เดรัจฉาน ผลของปิสุณาวาทในปวัตติกาล ได้แก่ มักกล่าวตำหนิตนเอง แตกแยกจากมิตรสหาย มักถูกลือโดยปราศจากมูลความจริง และถูกบัณฑิตตำหนิติเตียน

6 . ผรุสวาท

ผรุสวาท คือ การพูดหยาบ พูดคำไม่รื่นหู ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีคนอื่นที่จะพึงด่าว่าให้เขามีความเจ็บช้ำน้ำใจ เหตุที่จะกล่าวให้เขามีความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นเพราะเหตุว่ามีจิตโกรธเคืองเขา แสดงคำหยาบหรือแสดงอาการหยาบเพื่อให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ 

ผลของผรุสวาทในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของผรุสวาทในปวัตติกาล ได้แก่ พินาศในทรัพย์ มีกายวาจาหยาบ ได้ยินเสียงเกิดความไม่พอใจและตายด้วยอาการงงงวย

7 . สัมผัปปลาปะ

สัมผัปปลาปะ คือ การพูดเพ้อเจ้อ พูดไร้สาระไม่เป็นประโยชน์ ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มุ่งกล่าวคำที่ไร้แก่นสารไม่มีประโยชน์ กล่าวคำที่ไม่มีประโยชน์นั้นออกไป

ผลของสัมผัปปลาปะในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของสัมผัปปลาปะในปวัตติกาล ได้แก่ เป็นอธัมมวาทบุคคล ไม่มีอำนาจ ไม่มีผู้เลื่อมใสในคำพูด และจิตไม่เที่ยงคล้ายคนวิกลจริต

8 . อภิชฌา

อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา ความคิดจ้องเอาของผู้อื่น ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ทรัพย์หรือของเหล่านั้นเป็นของผู้อื่น มีความเพ่งเล็งที่จะให้ได้ทรัพย์หรือของเหล่านั้นมาเป็นของตน 

ผลของอภิชฌาในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรตอสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ผลของอภิชฌาในปวัตติกาล ได้แก่ ปฏิสนธิในตระกูลต่ำ มักได้รับคำติเตียน ขัดสนในลาภสักการะ และเสื่อมในทรัพย์และคุณงามความดี

9 . พยาบาท

พยาบาท คือ ความคิดที่จะทำร้ายผู้อื่น ความคิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่น ประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีสัตว์อื่นเพื่อทำลาย มีจิตหรือเจตนาคิดทำลายเพื่อให้สัตว์นั้นประสบความพินาศ 

ผลของพยาบาทในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน ผลของพยาบาทในปวัตติกาล ได้แก่ มีรูปทราม อายุสั้น มีโรคภัยเบียดเบียน และตายโดยถูกประทุษร้าย

10 . มิจฉาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดทำนองคลองธรรม เช่นเห็นว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริงประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ มีความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ผิด เชื่อและยินดีพอใจในอารมณ์ที่ผิดนั้น 

ผลของมิจฉาทิฏฐิในปฏิสนธิกาล คือ ทุคติภูมิ 4 ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน ผลของมิจฉาทิฏฐิในปวัตติกาล ได้แก่ มีปัญญาทราม เป็นผู้มีฐานะไม่เท่าเทียมผู้อื่น ปฏิสนธิในพวกคนป่าปราศจากความเจริญ และห่างไกลจากรัศมีแห่งพระธรรม

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทุกขสมุทัย- ตัณหา 3

ทุกขสมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ เกิดสภาพที่ทนอยู่ได้ยาก มี 11 ประการ

• ตัณหา 3
• อกุศลกรรมบถ 10
• นิวรณ์ 5
• สังโยชน์ 10
• อาสวะ 4
• โอฆะ 4
• โยคะ 4
• คันถะ 4
• อุปาทาน 4
• อนุสัย 7
• กิเลส 10

ตัณหา 3

ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ความดิ้นรน ความปรารถนา ความเสน่หาอาลัย มี 3 ประการ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

1 . กามตัณหา

กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกามคุณ 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เป็นรูปที่น่าปรารถนา เสียงที่น่าปรารถนา กลิ่นที่น่าปรารถนา รสที่น่าปรารถนา และสัมผัสที่น่าปรารถนา

2 . ภวตัณหา

ภวตัณหา คือ ความปรารถนาให้กามคุณ 5 ที่น่าใคร่น่าพอใจนั้นเที่ยง คือ ปรารถนาให้รูปที่น่าใคร่น่าพอใจเที่ยง ปรารถนาให้เสียงที่น่าใคร่น่าพอใจเที่ยง ปรารถนาให้กลิ่นที่น่าใคร่น่าพอใจเที่ยง ปรารถนาให้รสที่น่าใคร่น่าพอใจเที่ยง และปรารถนาให้สัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจเที่ยง

3 . วิภวตัณหา

วิภวตัณหา คือ ความปรารถนาให้กามคุณ 5 ที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจนั้นไม่เที่ยง คือ ปรารถนาให้รูปที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่เที่ยง ปรารถนาให้เสียงที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่เที่ยง ปรารถนาให้กลิ่นที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่เที่ยง ปรารถนาให้รสที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่เที่ยง และปรารถนาให้สัมผัสที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่เที่ยง